คณะกรรมการบริษัทฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะนำเสนอรายงานประจำปี 2567 และรายงานงบการเงินของบริษัทฯ ที่ได้ตรวจสอบแล้วสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แก่ผู้ถือหุ้นได้รับทราบดังนี้
ภาพรวมการดำเนินงานประจำปี
แม้ในปี 2567 บริษัทฯ เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมที่ยาวนาน และความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่มีความหลากหลาย รวมถึงการปรับกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ อีกทั้งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปี 2568 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะการออกแบบและก่อสร้างโครงการที่มีมาตรฐานการก่อสร้างสูง ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กับพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับสูง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มในการเติบโตที่สดใส ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ๆ และด้วยแผนบริหารความเสี่ยงและแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจที่บริษัทฯ จัดทำขึ้น ประกอบกับความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกท่าน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายใต้วิกฤตการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้น
การกำกับดูแลกิจการที่เข้มแข็ง
บริษัทฯ มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการบริหารงานภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารทุกท่านคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ วิสัยทัศน์ และจรรยาบรณในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการอยู่ในระดับดีเลิศมาโดยตลอด โดยบริษัทฯ ได้รับผลการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ในระดับคะแนนเต็ม 100 จากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เป็นเวลา 6 ปี ในปี 2560 และปี 2563-2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อยู่ในระดับ “ดีเลิศ” เป็นเวลาติดต่อกัน 7 ปี นับแต่ปี 2561 ถึงปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP) จะขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2568 สะท้อนถึงข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งอาจจำกัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและมาตรการสินเชื่อที่เข้มงวด ขณะที่ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เผชิญต้นทุนดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันจากสินค้านำเข้า ส่วนการลงทุนภาครัฐยังล่าช้า โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดความชัดเจนในนโยบาย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยบวกสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง รวมถึงการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ศูนย์จัดเก็บข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับการส่งเสริมจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 หากเงินเฟ้อทรงตัว จะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและกระตุ้นการบริโภค ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญแรงกดดันหลายด้าน แต่การส่งเสริมการลงทุนและการขยายตัวของภาคบริการ อาจเป็นปัจจัยช่วยพยุงการเติบโตในระยะต่อไป
ภาวะอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศ
ตั้งแต่ปี 2564 อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยยังคงประสบกับภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โครงการใหม่ของภาครัฐยังคงมีความล่าช้าและมีจำนวนน้อย ความไม่ชัดเจนในนโยบายของภาครัฐส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการวางแผนพัฒนา การใช้จ่าย และการลงทุน ถึงแม้ว่าในปี 2567 ภาครัฐได้เริ่มมีโครงการใหม่ออกมาบ้าง แต่ยังมีจำนวนน้อยมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูง และการเสนอราคาประมูลที่ไม่สมเหตุสมผล การลงทุนในโครงการก่อสร้างใหม่ของภาครัฐไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่มูลค่างานก่อสร้างจากภาคเอกชนยังคงเติบโตในอัตราที่ช้า ผู้ลงทุนรายใหญ่ยังคงพิจารณาสภาพคล่องทางการเงินอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้เกิดการทบทวนและเลื่อนโครงการลงทุนระยะยาว รวมถึงการพัฒนาโครงการใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างจำนวนมากเริ่มเข้าสู่สภาวะวิกฤตที่รุนแรงขึ้น
ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2567
บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 6,164 ล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ จำนวน 37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 17 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่ารายได้รวมจะลดลง แต่ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการรับรู้รายได้อื่น ๆ รวมถึงการกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากรายการรับโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ค้างชำระนานรายหนึ่ง ช่วยสนับสนุนให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยรวมแล้วดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ค้างชำระนานรายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากการใช้เงินสดไปกับการลงทุนและการชำระหนี้คืน ทำให้กระแสเงินสดโดยรวมลดลงเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงในกระแสเงินสดของบริษัทฯ ในปี 2567 สะท้อนถึงการบริหารจัดการทางการเงินที่รอบคอบ มีการจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต แม้ว่ากระแสเงินสดในมือจะลดลงเล็กน้อย แต่สถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทฯ ยังคงแข็งแกร่งด้วยมาตรการกำกับดูแลในการรักษาสภาพคล่องของบริษัทฯ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นต่อเนื่อง หนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการเร่งรัดการรับรองผลงานจากเจ้าของงานหรือผู้ควบคุมงานของเจ้าของงานที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการไปแล้วและยังไม่ได้รับการรับรองผลงานที่ค้างอยู่เป็นเวลานาน เพื่อให้สามารถเรียกเก็บเงินได้ ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้อย่างพอเพียง นอกจากนั้น ยังมีการติดตามการชำระหนี้ และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการไม่ได้รับชำระเงินตามกำหนดอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้ที่อาจจะสูญ
สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทางด้านสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเมียนมาร์ ที่อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทฯ ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้บริษัทย่อยในประเทศเมียนมาร์เลิกกิจการและชำระบัญชี โดยได้จดทะเบียนเลิกกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2568 ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทใหม่ในประเทศไทย คือบริษัท ซีเอ็น พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีทุนจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านบาท (หุ้นสามัญ 50,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท) ซึ่งจะถือหุ้นโดยบริษัทฯ ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยกับกระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568
การประมูลงานและการได้งาน
ในปี 2567 บริษัทฯ เข้าร่วมประมูลงานรวม 41 โครงการ มูลค่า 29,744 ล้านบาท และได้รับงาน 14 โครงการ มูลค่า 5,945 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนอัตราการได้รับงานต่อการประมูลในเชิงจำนวนโครงการ 2.9:1 และเชิงมูลค่า 5:1 ตามลำดับ ผลการประมูลในปี 2567 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาประเมินผลงานระยะหนึ่ง บางโครงการได้รับทราบผลแล้วแต่เปิดเผยได้เฉพาะเจ้าของโครงการ เช่น โครงการศูนย์จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ขณะที่บางโครงการคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่างานในมือ (Backlog) และสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในปี 2568-2569
แนวโน้มในอนาคต
เศรษฐกิจโลกในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 2.7 - 3.3 ตามข้อมูลจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนใน ปัญญาประดิษฐ์ (AI), คอมพิวติ้งแบบคลาวด์ (Cloud Computing) และศูนย์จัดเก็บข้อมูล (Data Centers) รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ( Net Zero) แต่ยังคงต้องจับตามองปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกและไทย ได้แก่ นโยบายกีดกันทางการค้า ปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลก ห่วงโซ่อุปทาน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคาดว่าจะลดลงเหลือ ร้อยละ 4.3 ในปี 2568 ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มชะลอตัวเหลือร้อยละ 1.8 ขณะที่ เศรษฐกิจจีนอาจลดลงเหลือร้อยละ 4.0 ส่วนภูมิภาคอาเซียน เวียดนามคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ ร้อยละ 5.8 ตามด้วยฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ขณะที่ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.4 ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอและความท้าทายด้านการลงทุน
ภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จากปัจจัยต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ด้วยปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวที่มาจากภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะงานก่อสร้างในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการก่อสร้างโครงการเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง ดังนั้น บริษัทก่อสร้างที่ปรับตัวได้จะมีโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า
แม้โครงการภาครัฐและเอกชนจะชะลอตัว แต่ยังมีบางภาคส่วนที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงพยาบาล อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คลังสินค้าและโลจิสติกส์ คลังเก็บเคมีภัณฑ์ ท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว ศูนย์จัดเก็บข้อมูล และสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มงานที่มีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น ในปี 2568 บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการประมูลงานที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านเป็นหลัก ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับงานอาคารสำนักงานและโรงแรม แม้จะเผชิญการแข่งขันที่สูงและมีความเสี่ยงด้านราคา นอกจากนี้บริษัทฯ ยังคงรักษาทีมงานเพื่อรองรับโครงการพิเศษที่อาจได้รับ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีมูลค่างานในมือ (Backlog) กว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2568
ณ สิ้นปี 2567 กลุ่มบริษัทมีปริมาณงานคงเหลือสำหรับโครงการก่อสร้างในมือประมาณ 6,311 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากสิ้นปี 2566 ซึ่งมีมูลค่างานคงเหลือในมือประมาณ 6,711 ล้านบาท ตามสาเหตุที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ดี จากการเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และได้รับงานเพิ่มเติมจากงานที่มีอยู่ โดยได้ดำเนินการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ (Power Purchase Agreement- PPA) กับกลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียง
นอกจากนี้ จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงผ่านการใช้บริการในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ประกอบกับ บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจอื่น ๆ ดังนั้น ในปี 2568 บริษัทฯ จึงคาดว่ารายได้รวมของบริษัทฯ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทฯ มีงานคงค้างจากโครงการขนาดใหญ่ยกมาจากปีก่อนที่จะต้องส่งมอบในปี 2568 รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ตามที่กล่าวข้างต้น
ธุรกิจพลังงานทดแทน (บริษัทย่อย)
จากที่บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพ และสัดส่วนทางการตลาดของพลังงานทางเลือกทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอินโดจีน รวมไปถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในมิติของความยั่งยืนในการดำรงชีวิต และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น บริษัทฯ จึงตัดสินใจเข้าสู่ภาคพลังงานทางเลือกในปี 2562 โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยในนาม คริสเตียนีและนีลเส็น เอนเนอร์จีโซลูชันส์จำกัด (CNES) ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทย่อยจาก 10 ล้านบาท เป็น 110 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ซื้อหุ้นสามัญที่ออกใหม่ทั้งหมด ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98.64 (จากเดิมร้อยละ 85.00) และได้จดทะเบียนการเพิ่มทุนกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567
ปัจจุบัน CNESD1 อยู่ขั้นตอนการสรุปเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PPA) พร้อมระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) สำหรับบริษัทผู้ผลิตชั้นนำ โครงการนี้ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการขยายโซลูชันพลังงานหมุนเวียนของบริษัทย่อย นอกจากนี้ โครงการ EPC พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และวัสดุอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา โดย CNESD1 ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในรูปแบบ PPA ตามความต้องการของลูกค้า สำหรับปี 2568 บริษัทฯ เตรียมความพร้อมในการประมูลงานและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยมีโครงการที่น่าสนใจมากกว่า 15 โครงการจากบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ยา เคมีภัณฑ์ การดูแลสุขภาพ ค้าปลีก เกษตรกรรม อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงโรงแรมและการบริการ
ธุรกิจก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทในระดับ High-end (บริษัทย่อย)
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บริษัทฯ ได้ร่วมกับนายจูเลียน โอลด์ส จัดตั้งบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น ดีซีเอ็ม จำกัด (CNDCM) โดยบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 80 และนายจูเลียน โอลด์ส ถือหุ้นร้อยละ 20 ด้วยประสบการณ์ของบุคลากรที่สั่งสมมากว่า 20 ปี ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมี่ยมและโรงแรมตั้งแต่ระดับห้าดาวขึ้นไปโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา เกาะสมุย และจังหวัดเชียงใหม่ บริษัท CNDCM ได้ให้ความสำคัญต่อการรักษาชื่อเสียงที่สั่งสมมาในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในขณะนี้กล่าวได้ว่าบริษัท CNDCM เป็นบริษัทที่มีผลงานและชื่อเสียงที่แข็งแกร่งที่สุด
การเติบโตของโครงการที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ยังคงเป็นแนวโมเดิร์นที่โดดเด่น โดยพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการมากที่สุด ได้แก่ บริเวณหาดบางเทา ตำบลเชิงทะเล และหาดลายัน ซึ่งยังคงมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายงานจาก C9Hotelworks ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุว่าโครงการที่อยู่อาศัยเกรดเอในภูเก็ตมีมูลค่า 3.37 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 10 - 20 ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้า โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความต้องการจากผู้ซื้อระดับสูงทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ Banyan Group มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการมูลค่าสูงอีกหลายโครงการในอนาคตอันใกล้ และบริษัทฯ หวังจะต่อยอดความสัมพันธ์ที่ได้เริ่มต้นไว้กับโครงการ Patong Residence ที่หาดลายัน
ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างวิลล่าหรูและคอนโดมิเนียมแบบบูติกที่หาดลายัน แม้จะเผชิญกับความล่าช้าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการออกแบบของงานที่กำลังดำเนินการอยู่ บริษัทย่อยยังคงเดินหน้าประมูลงานใหม่ๆ มูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายที่จะได้รับงานขนาดใหญ่ 1 โครงการภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา CNDCM มีรายได้ 333 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้ 600 ล้านบาทในปี 2568
ผลประกอบการ
งบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสำหรับปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แสดงผลกำไรสุทธิ จำนวน 37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 17 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิจำนวน 20 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อน โดยหลักเกิดจากรายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 41 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการโอนกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งเกิดจากรายการรับโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ค้างชำระนานรายหนึ่งจำนวน 50 ล้านบาท
รายได้รวมลดลงจำนวน 1,085 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 จากจำนวน 7,249 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้งานก่อสร้างที่ลดลงจำนวน 1,142 ล้านบาท หรือร้อยละ 16 จากจำนวน 7,131 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมูลค่างานก่อสร้างที่รับรู้ในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นช่วงเริ่มงานก่อสร้างของโครงการใหม่ ๆ ที่ได้รับในปีนี้ซึ่งการรับรู้รายได้ในช่วงเริ่มงานจะมีไม่มาก และงานก่อสร้างในมือที่ยกมาจากปีก่อนส่วนใหญ่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
อัตรากำไรขั้นต้นของปี สิ้นสุด 31 ธันวาคมปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 3.88 ซึ่งต่ำกว่าปี 2566 ที่มีอัตราร้อยละ 4.03 เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของโครงการที่รับรู้ในปี 2566 สูงกว่าอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของโครงการที่รับรู้ในปี 2567 ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ลดลงจำนวน 54 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการบริหารโดยรวมเพิ่มขึ้นจำนวน 20 ล้านบาท สาเหตุจากการจ้างพนักงานเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างที่บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นปี 2568 และมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 42 ล้านบาท จากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนในสินทรัพย์ อย่างไรก็ดี จากการจัดการภาษีที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรอตัดบัญชีของปี 2567 มีจำนวนลดลง 52 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจในส่วนงานการขายและให้บริการจัดหาพลังงานทางเลือก กล่าวคือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานทดแทนอื่น สำหรับปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีรายได้รวมจำนวน 97 ล้านบาท โดยมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 23 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน จะพบว่าบริษัทย่อยมีกำไร 13 ล้านบาท การขาดทุนสุทธิมีสาเหตุหลักมาจากการกู้ยืมเงินเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าเมื่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทย่อยได้รับการปรับให้มีหนี้สินลดลงและส่วนทุนมากขึ้น ต้นทุนทางการเงินจะลดลงและจะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้
ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยในธุรกิจก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทในระดับ High-end กล่าวคือ บริษัท CNDCM มีรายได้รวมประมาณ 333 ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 61 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่ได้รับในงวดยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทย่อย
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมจำนวน 6,458 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 4,741 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 1,717 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2567 จำนวน 130 ล้านบาท ลดลงจำนวน 41 ล้านบาท จากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 170 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 หรือ ณ ต้นปี 2567 ซึ่งเกิดจากกระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 769 ล้านบาท กระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 200 ล้านบาท และกระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 609 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่องเนื่องจากมีเงินสดสำรองเพียงพอโดยอัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ ในงบการเงินรวมมีอัตราส่วนสภาพคล่อง 0.92 เท่า ซึ่งเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 และมีอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็วเท่ากับ 0.35 เท่า ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 0.45 เท่า อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ร้อยละ 1.19 เป็นร้อยละ 2.18 และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.31 เป็นร้อยละ 0.57 อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งเท่ากับ 2.87 เท่า เป็น 2.76 เท่า ในปี 2567
การจัดสรร
คณะกรรมการบริษัทฯ ขอจัดสรรผลประกอบการเฉพาะของบริษัทฯ ดังนี้
บาท | |
กำไรสะสมยกมา | 144,671,027 |
ผลประกอบการประจำปี 2567 | 118,156,746 |
ผลขาดทุนจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย | (8,009,793) |
โอนส่วนเกินจากการตีราคาทรัพย์สิน | 1,982,752 |
การจัดสรรผลกำไร | |
จัดสรรกำไรสะสมเป็นสำรองตามกฎหมาย | (5,907,837) |
เงินปันผล (ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น) | (41,116,166) |
กำไรสะสมยกไป | 209,776,729 |
สุดท้ายนี้ ด้วยความคาดหวังในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้ถือหุ้น ลูกค้า และ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่านที่มีความเชื่อมั่นและสนับสนุน และในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการบริษัทฯ ข้าพเจ้าอยากจะแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัทฯ สำหรับการทำงานอย่างหนัก ความภักดี ความเสียสละ และความทุ่มเทตลอดปีที่ผ่านมา
นายคูชรู ดาลี วาเดีย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์
ประธานกรรมการ
